ขอบเขตการดำเนินงาน

ในการดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบระบบกำแพงกันเสียง (Noise Barrier) บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ศรีนครินทร์ – พัทยา) มีดังต่อไปนี้

1) การรวบรวมและทบทวนข้อมูล

การรวบรวม และทบทวนรายงานการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ทั้งของกรมทางหลวงและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงแผนพัฒนานโยบายหรือยุทธศาสตร์
ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เกี่ยวกับพื้นที่ศึกษา


2) การสำรวจแนวเส้นทาง

ทำการสำรวจแนวเส้นทางพื้นที่โครงการ เพื่อรวบรวมข้อมูลสภาพสิ่งแวดล้อม พื้นที่อ่อนไหวริมทางในระยะ 500 เมตร จากเขตทางเป็นอย่างน้อย และสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในระยะ 500 เมตร จากเขตทางเป็นอย่างน้อย ซึ่งรวมไปถึงการรวบรวม วิเคราะห์ กิจกรรมในพื้นทีอ่อนไหวและผลกระทบจากการจราจร อันเป็นการแสดงสถานการณ์มลภาวะเสียง ณ พื้นที่อ่อนไหว รวมทั้งรวบรวมข้อมูลกำแพงกันเสียง จำนวน ตำแหน่ง และสภาพความสมบูรณ์


3) การศึกษามลภาวะเสียงในปัจจุบัน

3.1) การสำรวจรวบรวมข้อมูลระดับเสียง

สำรวจรวบรวมข้อมูลภาคสนาม เพื่อให้ได้ข้อมูลระดับเสียงเฉลี่ยรายชั่วโมง Leq(1h) เป็นอย่างน้อย ณ บริเวณพื้นที่อ่อนไหวที่อยู่ในระยะ 100 เมตร จากเขตทางของพื้นที่โครงการ โดยตรวจวัดที่อาคารพื้นที่อ่อนไหว อย่างน้อย 1 จุด เพื่อเป็นตัวแทนค่าระดับเสียง ณ ตำแหน่งผู้ได้รับผลกระทบ โดยให้ทำการตรวจวัดนาน 5 วันต่อเนื่อง เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ได้ข้อมูลระดับเสียงครอบคลุมทั้งวันธรรมดาและวันหยุด รวมทั้งรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์สถานการณ์ระดับเสียงที่เป็นตัวแทนของเวลาตลอดปีหรือรูปแบบ (Pattern) ระดับเสียงทั้งปี และสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario)

3.2) การสำรวจรวบรวมข้อมูลด้านจราจร

จัดหา รวบรวม และสำรวจภาคสนาม เพื่อให้ได้ข้อมูลจราจรที่จำเป็นสำหรับการคาดการณ์ปริมาณจราจรในอนาคต และสำหรับการวิเคราะห์มลภาวะเสียงจากการจราจรในปัจจุบัน โดยอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วย ปริมาณรถแยกประเภทในแต่ละชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ยเฉพาะจุด (Average Spot Speed) รายชั่วโมงแยกประเภทรถ ทั้งบนทางหลักและทางบริการ ทั้งทิศทางเข้าเมือง และทิศทางออกเมือง ณ บริเวณกิโลเมตรที่มีพื้นที่อ่อนไหวที่ทำการตรวจวัดระดับเสียง โดยทำการเก็บข้อมูล 5 วันต่อเนื่อง เป็นอย่างน้อย ในช่วงเวลาเดียวกันกับการเก็บข้อมูลระดับเสียง เพื่อให้ได้ข้อมูลจราจรที่เป็นตัวแทนรูปแบบ (Pattern) จราจร ครอบคลุมทั้งวันธรรมดาและวันหยุด รวมทั้งรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์สภาพการจราจรที่เป็นตัวแทนของเวลาตลอดปี หรือรูปแบบ (Pattern) สภาพจราจรทั้งปี ณ สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด


4) การศึกษาแบบจำลองระดับเสียงจราจร

4.1) การศึกษาแบบจำลองระดับเสียงจราจรปัจจุบัน

จัดเตรียมแบบจำลองคณิตศาสตร์ของเสียงจากการจราจรบนทางหลวงในโครงการ โดยใช้ข้อมูลการจราจรในปัจจุบันที่ได้ทำการสำรวจไว้ เป็นข้อมูลด้านเข้า (Input) และทำการทดสอบความแม่นยำของแบบจำลองระดับเสียงจราจร โดยเปรียบเทียบค่าระดับเสียงที่คำนวณได้กับค่าระดับเสียงที่ตรวจวัดในโครงการ โดยใช้วิธีทางสถิติ และนำเสนอค่าสถิติและผลการทดสอบความแม่นยำ (Goodness of Fit Test) และทำการปรับเทียบแบบจำลองให้มีความน่าเชื่อถือในระดับที่ยอมรับได้ในเชิงวิชาการ แล้วนำเสนอค่าระดับเสียงที่คำนวณได้จากแบบจำลองระดับเสียงในรูปแบบแผนภาพคอนทัวร์ (Contour Plot) ตลอดช่วงโครงการ และครอบคลุมบริเวณในระยะแนวราบอย่างน้อย 500 เมตร จากเขตทางทั้งสองฝั่ง และระยะในแนวดิ่งอย่างน้อย 50 เมตรจากพื้นผิวถนนหลัก ทั้งนี้ให้เสนอผลจากแบบจำลองระดับเสียงจราจรทั้งปี และในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) โดยแสดงผลประกอบ
เข้ากับแผนที่โครงการดวยโปรแกรมภูมิสารสนเทศ

4.2) การคาดการณ์ระดับเสียงจราจรในอนาคต

ทำการคาดการณ์ระดับเสียงในอนาคต ในกรณีไม่มีมาตรการลดผลกระทบทางเสียงเพิ่มเติม โดยใช้ข้อมูลจราจรในอนาคตจากผลการวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณจราจรบนทางหลวงโครงการ และเสนอค่าระดับเสียงที่คำนวณจากแบบจำลองระดับเสียงในรูปแบบแผนภาพคอนทัวร์ (Contour Plot) ในลักษณะเดียวกับการแสดงผลการศึกษาระดับเสียงจราจรปัจจุบันในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) โดยแสดงผลประกอบเข้ากับแผนที่โครงการด้วยโปรแกรมสารสนเทศภูมิศาสตร์


5) การศึกษารูปแบบกำแพงกันเสียง

จะต้องทำการศึกษาทางเลือกรูปแบบกำแพงกันเสียงให้ครอบคลุมกำแพงกันเสียงประเภทต่างๆ โดยนำเสนอรายละเอียดทางเลือก ทั้งในแง่วัสดุ การออกแบบ ความสวยงาม ราคา การติดตั้งและการบำรุงรักษา ซึ่งต้องมีความเหมาะสมทั้งทางวิศวกรรม ทางสถาปัตยกรรม และใช้งบลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ด้านประสิทธิภาพการลดการแพร่กระจายของเสียง โดยการใช้แบบจำลองระดับเสียงจราจร เพื่อศึกษาผลการลดผลกระทบเสียงจราจรต่อพื้นที่อ่อนไหวจาการใช้รูปแบบกำแพงกันเสียงในแต่ละทางเลือก โดยมีเป้าหมายระดับเสียงที่เหมาะสม และจะต้องเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของทางเลือกรูปแบบกำแพงกันเสียง และนำเสนอผลการศึกษารูปแบบกำแพงกันเสียงในระดับการออกแบบเชิงหลักการ (Conceptual Design) ครอบคลุมตลอดระยะโครงการ ทั้งนี้จะต้องนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ร่วมประกอบการพิจารณากำหนดรูปแบบที่มีความเหมาะสมด้วย


6) การมีส่วนร่วมของประชาชน

จะต้องดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมการดำเนินงานดังต่อไปนี้

6.1) เสนอแผนการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ครอบคลุมระยะเวลาการศึกษาไว้ในรายงานเบื้องต้น (Inception Report) เสนอต่อกรมทางหลวงเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเริ่มปฏิบัติงาน โดยมีรายละเอียดของกิจกรรมที่จะดำเนินการ ผู้รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม กลุ่มเป้าหมาย เทคนิคและวิธีการที่ใช้ ช่วงเวลาและระยะเวลา ผลที่คาดว่าจะได้รับ และวิธีการนำข้อคิดเห็นที่ได้รับไปใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน ทั้งนี้ในส่วนของเทคนิคและวิธีการที่ใช้นั้น จะต้องมีรายละเอียดครบถ้วนครอบคลุมถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหารรวบรวมข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูล การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และการรับฟังข้อคิดเห็น/เสนอแนะ รวมทั้งสาเหตุในการเลือกเทคนิคและวิธีการนั้นๆ มาใช้ ทั้งนี้ให้อ้างอิงแนวทางการจัดทำแผนการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคผนวก ก ท้ายรายการข้อกำหนดประกอบ

6.2) จัดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของโครงการ โดยจะต้องมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารของโครงการแก่ผู้มรส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นโครงการและตลอดระยะเวลาการดำเนินการเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องมีช่องทางการรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเหมาะสม

6.3) ที่จัดให้มีการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่

  • การประชุมนำเสนอทางเลือกรูปแบบ ซึ่งจะต้องนำเสนอรูปแบบเชิงหลักการ (Conceptual Design) อย่างน้อย 3 รูปแบบ ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบและหน่วยงานในพื้นที่นำร่อง โดยการประชุมจะต้องมีการนำเสนอแนวคิดทางเลือก และวิธีการคัดเลือก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบถึงเหตุผลและที่มาของทางเลือกรูปแบบและรายละเอียดของรูปแบบเชิงหลักการทั้ง 3 รูปแบบ ดังกล่าว และร่วมแสดงความคิดเห็น จากนั้นจึงนำผลที่ได้จากการประชุมไปประกอบการตัดสินใจเพื่อคัดเลือกรูปแบบเชิงหลักการที่เหมาะสมที่สุด
  • การนำเสนอผลการคัดเลือกรูปแบบเชิงหลักการ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบและหน่วยงานในพื้นที่นำร่องได้ทราบถึงผลการคัดเลือกรูปแบบเชิงหลักการและมีโอกาสแสดงความเห็น เพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชนในพื้นที่นำร่อง ก่อนที่จะนำเอารูปแบบที่เหมาะสมดังกล่าวไปทำการออกแบบรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้กิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนจะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนการจัดส่งรายงานขั้นสุดท้าย (Final Report) ของการศึกษาให้แก่กรมทางหลวง โดยจะต้องครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ศึกษา โดยจัดขึ้นในสถานที่ที่เหมาะสม และต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมทางหลวงก่อนดำเนินการ

6.4) รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับจากช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์และกิจกรรมการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคสนาม โดยสรุปเป็นประเด็น พร้อมทั้งวิเคราะห์และนำเสนอผลการพิจารณาในแต่ละประเด็น และแสดงรายละเอียดของการนำประเด็นต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมใดของการศึกษาอย่างชัดเจน


7) การจัดทำแผนปฏิบัติการมาตรการกำแพงกันเสียง

จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการดำเนินมาตรการกำแพงกันเสียง โดยต้องระบุถึงหลักการและเหตุผล วัตุประสงค์ รายละเอียดรูปแบบกำแพงกันเสียง รายละเอียดวิธีการ/ขั้นตอน ที่ต้องดำเนินการ ช่วงที่จะต้องดำเนินการ ระยะเวลาในการดำเนินการ งบประมาณ และประเมินผลสำเร็จ โดยจัดลำดับความสำคัญบริเวณที่จะดำเนินมาตรการกำแพงกันเสียง เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการในอนาคต ทั้งนี้แผนปฏิบัติการดังกล่าวจะต้องมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ


8) การสำรวจและออกแบบรายละเอียดกำแพงกันเสียง

สำรวจด้านวิศวกรรม ที่จำเป็นต่อการออกแบบรายละเอียดกำแพงกันเสียงในพื้นที่โครงการนำร่อง อย่างน้อย 3 พื้นที่ เช่น การสำรวจผังบริเวณ และการสำรวจธรณีวิทยา เป็นต้น โดยให้ยึดแนวทางการสำรวจดังแสดงในภาคผนวก ข จากนั้นจึงทำการออกแบบรายละเอียดกำแพงกันเสียง ตามแผนปฏิบัติการมาตรการกำแพงกันเสียงในพื้นที่นำร่องโครงการดังกล่าว โดยต้องเป็นไปตามข้อกำหนด กฏหมาย หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรม ตลอดจนนำผลจากการมีส่วนร่วมของประชาชนมาพิจารณาในการออกแบบด้วย


9) การจัดทำเครื่องมือในการออกแบบมาตรการกำแพงกันเสียง

จัดทำเครื่องมือในการออกแบบมาตรการกำแพงกันเสียง โดยอย่างน้อยเครื่องมือต้องประกอบไปด้วย การแนะนำประเภทกำแพงกันเสียงที่เหมาะสมกับเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจนการคำนวณและเสนอแนะขนาดความยาวและความสูงของกำแพงที่เหมาะสม ตามลักษณะทางกายภาพและตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่อ่อนไหว และสภาพมลภาวะเสียงของพื้นที่อ่อนไหว โดยเครื่องมือต้องมีส่วนประสานกับผู้ใช้ (User Interface) ที่ใช้สะดวก และสามารถใช้งานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือใช้งานในลักษณะโปรแกรมประยุกต์ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือแนะนำความรู้เรื่องมาตรการกำแพงกันเสียงและการใช้งานเครื่องมือการออกแบบกำแพงกันเสียง