ความเป็นมาของโครงการ

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จัดเป็นโครงข่ายที่สำคัญและมีศักยภาพในการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรและการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบันได้มีการขยายตัวของชุมชนเพิ่มขึ้นในลักษณะกระจายตัวขนานไปกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ดังนั้นผลกระทบของเสียงดังจากการจราจรอาจเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองได้ อย่างไรก็ตามจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง พบว่าระดับเสียงที่ตรวจวัดบนสายทางดังกล่าวมีค่าไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรฐานระดับเสียง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แต่จากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนและชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณสองข้างทางของโครงการ ยังคงพบว่าได้รับผลกระทบเสียงดังจากยานพาหนะที่วิ่งสัญจรอยู่บนแนวเส้นโครงการ

จากปัญหาผลกระทบดังกล่าว กรมทางหลวงจึงได้พิจารณาดำเนินโครงการศึกษามลภาวะเสียงและกำแพงกันเสียง (Noise Barrier) บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการมาตรการกำแพงกันเสียงและจัดทำแบบเชิงหลักการ (Conceptual Design) ของการติดตั้งกำแพงกันเสียงบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และจัดทำแบบรายละเอียด (Detailed Design) กำแพงกันเสียงสำหรับบริเวณพื้นที่อ่อนไหว เพื่อเป็นโครงการนำร่องอย่างน้อย 3 พื้นที่ รวมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือในการคัดเลือกรูปแบบกำแพงกันเสียงและช่วยในการออกแบบเชิงหลักการ อันจะเป็นแนวทางไปสู่การแก้ไขปัญหาเสียงจราจรได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการพัฒนาทางหลวง รวมทั้งช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกรมทางหลวงที่มีต่อประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทางหลวงอย่างยั่งยืน